กฎหมายต่อเติมบ้านที่คุณต้องรู้

สำหรับเจ้าของบ้านที่มีความคิดจะต่อเติม เสริมแต่งบ้าน เช่น ครัวไทยยื่นออกมานอกบ้าน โรงจอดรถ ห้องสำหรับผู้สูงวัย หรือห้องเก็บของ ถึงแม้จะทำในพื้นที่บ้านตัวเอง แต่รู้หรือไม่ว่าการต่อเติมใดๆ ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายการต่อเติม เพื่อป้องกันความเสียหายและการผิดกฎหมายในอนาคต กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการต่อเติมบ้านโดยตรง คือ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21 และ 39 ทวิ ซึ่งสรุปเอาไว้ให้เข้าใจง่าย คือ การจะดัดแปลง ต่อเติมอาคาร ต้องแจ้งและต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานท้องถิ่นก่อนเสมอ ตามมาตรา 21 พร้อมต้องยื่นแบบแปลน รวมถึงชื่อสถาปนิกและวิศวกรที่ควบคุมงาน ให้เจ้าพนักงานทราบ

รายละเอียดการต่อเติมบ้านตามกฎหมายที่คุณต้องรู้

  • 1. ห้ามต่อเติมอาคารเต็มพื้นที่ดิน ต้องมีพื้นที่ว่างเหลือไม่น้อยกว่า 30%

    กฎหมายไม่อนุญาตให้ต่อเติมที่พักอาศัยจนเต็มทั้งพื้นที่ของที่ดิน โดยต้องที่เว้นว่าง ระหว่างตัวบ้านกับเขตที่ดินของตัวเองอย่างน้อย 30% ของพื้นที่ เพื่อป้องกันเหตุไม่คาดคิด เช่น เหตุเพลิงไหม้ เพราะเมื่อเกิดเหตุดังกล่าว ถ้าบ้านติดกันไม่มีช่องว่างจะเกิดการล่ามไฟได้ง่าย พนักงานดับเพลิงไม่สามารถเข้าไปดับเพลิงได้ ถ้าไม่มีพื้นที่ว่างระหว่างอาคาร การระบายอากาศก็ไม่ดีทำให้บ้านอับชื้น

    • - ต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่า 30 ใน 100 ส่วนของที่ดิน
    • - ที่ว่างโดยรอบอาคาร ถ้าอาคารสูงน้อยกว่า 15 เมตร ต้องมีที่ว่างโดยรอบ 1.00 เมตร ถ้าอาคารสูงตั้งแต่ 15 เมตร ต้องมีที่ว่าง โดยรอบ 2.00 เมตร
  • 2. แนวอาคารและระยะร่นต่างๆ
    • - รั้วหรือกำแพงที่สร้างขึ้นติดต่อหรือห่างจากถนนสาธารณะน้อยกว่าความสูงของรั้วให้ก่อสร้างได้สูงไม่เกิน 3 เมตร เหนือระดับทางเท้าหรือถนนสาธารณะ
    • - อาคารที่มีความสูงเกิน 9 เมตร แต่ไม่เกิน 23 เมตร ผนังของอาคาร,ช่องเปิด (หน้าต่าง,ประตู,ช่องลม,ช่องแสง) หรือระเบียงของอาคารต้องอยู่ห่างจากแนวเขตที่ดิน 3 เมตร
    • - อาคารที่มีความสูงไม่เกิน 9 เมตร ควรเว้นระยะห่างของผนัง,ช่องเปิด (หน้าต่าง,ช่องลม,ช่องแสง) ห่างจากแนวของเขตที่ดินข้างเคียงไม่น้อยกว่า 2 เมตร แต่ถ้าเป็นผนังทึบต้องเว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร
  • 3. ต้องได้รับความยินยอมจากเพื่อนบ้านข้างเคียง

    เพื่อนบ้านข้างเคียงคือ สังคมที่เราต้องอยู่ร่วมกันในระยะยาว ดังนั้นการต่อเติมที่อยู่อาศัยจึงควรบอกกล่าวเพื่อนบ้านให้รับรู้ และขอความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากเพื่อนบ้าน เพื่อป้องกันความขัดแย้งในการก่อสร้าง โดยเฉพาะหากเจ้าของบ้านต้องการต่อเติมบ้านชิดเขตที่ดินของเพื่อนบ้าน หากไม่ได้รับการยินยอมจากเจ้าของที่ดินข้างเคียง ก็ไม่สามารถต่อเติมชิดเขตพื้นที่ได้ ต้องเว้นระยะห่างจากเขตที่ดินอย่างน้อย 0.50 เมตร และต้องเป็นผนังทึบไร้ช่องเปิดเท่านั้น ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดตามกฎหมาย

  • 4. ต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานในพื้นที่

    การต่อเติมบ้านทั้งบ้านชั้นเดียว และบ้านหลายชั้น จะต้องมีใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อน หากมีการต่อเติมในขอบเขตดังต่อไปนี้

    • - การต่อเติมบ้านที่มีพื้นที่ครอบคลุมเกิน 5 เมตรหรือตารางเมตร
    • - การลด-เพิ่ม จำนวนเสา หรือคาน
    • - การต่อเติมที่มีความเปลี่ยนแปลงของวัสดุ ขนาด ที่แตกต่างไปจากของเดิม
    • - การต่อเติมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักบ้านที่เพิ่มมากขึ้นจากการคำนวณฐานรับน้ำหนัก
  • 5. ห้ามต่อเติมอาคารเต็มพื้นที่ดิน ต้องมีพื้นที่ว่างเหลือไม่น้อยกว่า 30%

    เมื่อทำเรื่องขออนุญาตกับเจ้าพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว สิ่งที่จะต้องมีเมื่อเราต้องการต่อเติมที่อยู่อาศัยนั้นก็คือ แบบแปลนที่ได้รับการรับรองจากสถาปนิกและวิศวกรผู้ควบคุมการก่อสร้างอาคาร กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงวัสดุ ก็จำเป็นต้องให้วิศวกรคำนวณ เพื่อสรุปว่าการต่อเติมนั้นจะสามารถอนุญาตให้ต่อเติมได้หรือไม่ โดยจำเป็นต้องคำนึงถึงหลักความปลอดภัย

    เมื่อทราบกฎหมายควบคุมการต่อเติมบ้านแล้ว เจ้าของบ้านที่มีแผนจะต่อเติมบ้านเพื่อให้สอดคล้องกับการอยู่อาศัยจึงควรวางแผนก่อนต่อเติมเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่ตามมา ซึ่งหากเจ้าของบ้านไม่ปฏิบัติตามแล้วมีผู้ร้องเรียน เจ้าของบ้านจะต้องโทษจำคุก ไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งหากเจ้าของบ้านเลือกใช้บริษัทรับสร้างบ้าน ที่ได้มาตรฐาน จะช่วยป้องกันปัญหาการต่อเติมที่ผิดกฎหมายได้ เนื่องจากมีสถาปนิกและวิศวกรควบคุมงาน อีกทั้งยังช่วยประสานงานติดต่อขออนุญาตในขั้นตอนต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของบ้าน และทำให้การก่อสร้างต่อเติมเป็นไปอย่างราบรื่น หมดปัญหาหมดห่วงอย่างแน่นอน