เมื่ออายุการใช้งานบ้านเริ่มเข้าสู่ปีที่ 5 ขึ้นไป ร่องรอยจากการใช้งานของบ้าน หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ดิน สิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกับบ้านก็เริ่มชัดเจนขึ้น และนำไปสู่การซ่อมแซมใหญ่บ้างเล็กบ้างแตกต่างกันไป แต่รู้หรือไม่ว่าบ้านก็เหมือนคนเราหากหมั่นตรวจสุขภาพทุกปีอย่างสม่ำเสมอ พร้อมรักษาดูแลให้เป็นปกติ ก็จะทำให้บ้านนั้นมีสภาพที่น่าอยู่อาศัยให้ความรู้สึกสุขสบายเหมือนสร้างใหม่อยู่เสมอ และวันนี้ kangwandee ได้นำ 4 Checklists ตรวจสอบบ้านประจำปี มาฝากกัน เพื่อให้บ้านเราเป็นบ้านสุขภาพดี อยู่ทน อยู่นาน จะมีอะไรบ้างไปดูกัน
- 1. โครงสร้างบ้านภายนอก
ภาพรวมของบ้านเป็นภาพแรกที่ถือเป็นหน้าเป็นตาของเจ้าบ้าน และปัญหาส่วนใหญ่ที่มักพบก็คือ
- สี การเลือกสีที่มีคุณภาพ ทนแดดทนฝน คือการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างหนึ่ง นอกจากจะเพื่อเพิ่มความสวยงามแล้ว สียังสามารถสะท้อนความร้อนไม่ให้เข้าบ้าน ช่วยกันความชื้นไม่ให้สะสม ไม่ดักคราบต่างๆ หากหมั่นล้างทำความสะอาดผนังก็จะช่วยยืดอายุความสวยงามของสีนั้นได้อีกด้วย
- รอยร้าว รอยร้าวสามารถบ่งบอกปัญหาโครงสร้างของบ้านได้ เช่น หากเป็นรอยร้าวไร้ทิศทาง ขีดเล็กๆ น้อยๆ อาจเป็นจากความร้อน ทำให้เกิดการหดตัวของผนัง โดยสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ปกปิดรอยร้าวได้ แต่หากเป็นรอยใหญ่จากมุมคาน ควรปรึกษาบริษัทรับสร้างบ้านที่ดูแลเข้าประเมิน โดยควรจดหรือทำตำหนิความยาวของรอยร้าวนั้นๆ ไว้ เพื่อหาแนวทางแก้ไขได้ถูกต้อง
- พื้นทรุดรอบบ้าน เป็นอีกปัญหาที่ทุกบ้านมักจะเจอเมื่ออายุบ้าน 5 ปีขึ้นไป เพราะด้วยดินเซตตัว การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งในแต่ละปีควรมีการจดบันทึกเพื่อเปรียบเทียบช่องว่างของโพรงและควรหากรวดหิน หรือ วัสดุอุดเพื่อป้องกันสัตว์อันตรายที่จะเข้าไปอาศัย และอีกจุดที่มักพบรอยใหญ่โดยมากจะพบที่บริเวณโรงจอดรถ เพราะเป็นพื้นที่ที่รับน้ำหนักและการสั่นสะเทือนตลอดเวลา แต่หากบริษัทรับสร้างบ้านได้ทำการออกแบบแยกโครงสร้างกับตัวบ้านไว้ก็เบาใจเรื่องโครงสร้างบ้านหลักฉีก
- 2. โครงสร้างบ้านภายใน
การตรวจเช็กความเรียบร้อยภายในบ้าน จะไม่ต่างกันกับจุดสังเกตภายนอก แต่ต่างกันตรงที่รายละเอียดที่ต้องดู เช่น
- สี งานภายนอกจะทำหน้าที่สะท้อนความร้อนป้องกันคราบต่างๆ แต่การตรวจบำรุงสีภายในต้องสังเกตการลอกร่อนที่บ่งบอกความชื้น การรั่วซึมของแต่ละจุด เช่น สีลอกใต้ตำแหน่งห้องน้ำชั้นบน หรือ การลอกร่อนจากบริเวณชายคาที่มาจากหลังคาหรือรางน้ำอุดตัน
- รอยรั่วซึม รอยรั่วซึมต่างๆ สามารถมาจากหลายสาเหตุ อย่างมุมวงกบ มุมประตู ส่วนหนึ่งอาจมีการทรุดตัว หรือ วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือรั่วซึมจากการฉีกของโครงสร้างดึงรั้ง จุดนี้ถือเป็นอันตรายต้องรีบแก้ไขโดยด่วน รอยร้าวรั่วซึมบอกที่มาและจุดแก้ไขได้ หากเป็นบ้านที่ไม่ได้สร้างโดยบริษัทรับสร้างบ้าน ก็ควรหาช่างผู้เชี่ยวชาญเข้าประเมินไม่ควรทำเอง
- กระเบื้อง ปัญหาต่อเนื่องจากโครงสร้าง หากตรวจพบมีการทรุดตัว กระเบื้องหรืองานพื้นต่างๆ ก็เป็นอีกจุดที่เราสามารถสังเกตได้ด้วยตัวเอง แต่กระเบื้องหรืองานพื้นโก่งตัวก็อาจจะไม่ใช่เรื่องทรุดเสมอไป การปูพื้นชิดโดยไม่คำนึงเผื่อการขยายตัวก็เป็นอีกเรื่องที่ควรระวังเพราะอาจทำให้กระเบื้องระเบิดได้ รวมไปถึงการปูพื้นแบบซาลาเปาก็เป็นปัญหาน้ำขังความชื้นสะสมได้
- 3. ระบบไฟฟ้า สาธารณูปโภคต่างๆ
ส่วนนี้สามารถตรวจเช็กได้ตลอดโดยไม่จำเป็นต้องรอให้เป็นวาระประจำปี เช่น หากพบค่าน้ำ ค่าไฟ ขึ้นสูงผิดปกติ ก็ตรวจหาจุดรั่วไหล ตรวจสอบสายไฟ สวิตช์ต่างๆ หรือหมั่นตรวจเครื่องตัดไฟ เบรกเกอร์ ว่ายังใช้งานได้ปกติหรือไม่ ในส่วนของการล้างทำความสะอาด เช่น ล้างแอร์ ล้างแทงก์น้ำ ก็สามารถเว้นระยะตรวจเช็กรายปีได้
- 4. หลังคา ฝ้า เพดาน
เรามักจะคิดว่าปัญหาหลังคารั่ว เพดานถล่ม จะตรวจเช็กได้เมื่อถึงฤดูฝนเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง เราอาจเจอฝนได้ทุกฤดู การพบเจอสิ่งผิดปกติก่อนฤดูฝนประจำปีจะมาถึงถือเป็นโชคดี ควรหมั่นตรวจตราต้นไม้ใหญ่ หรือกิ่งก้านใบไม้ต่างๆ โดยรอบเสมอ เพื่อไม่ให้กิ่งไม้ตกหล่นสร้างความเสียหายกับหลังคา หรือใบไม้ต่างๆ ไม่ให้อุดตันรางน้ำ ยางไม้บางชนิดอาจจะทำปฏิกิริยาทางเคมีกับวัสดุใดๆ จนเกิดการผุกร่อนก่อนอายุการใช้งาน ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการรั่วซึมได้
แม้ว่าเราจะได้รับบริการหลังการขายจากบริษัทรับสร้างบ้าน หรือการรับประกันจากวัสดุต่างๆ ที่ใช้สร้างบ้าน บริษัทเหล่านั้นก็ยังต้องการข้อมูลปัญหาจากเราเพื่อนำไปแก้ไขปรับปรุงบริการ ดังนั้นการจด สังเกต ดูแลด้วยความใส่ใจบ้านอย่างสม่ำเสมอย่อมเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น จึงควรดูแลสุขภาพบ้านให้เหมือนการดูแลสุขภาพคน เพราะใครๆ ก็อยากมีบ้านที่อยู่ทนอยู่นาน เป็นของขวัญที่มีค่าที่สุดให้ลูกหลานต่อไป